วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาหารพื้นเมืองน่าน



         น่านนะซิ...มาถึงเมืองน่านแล้วก็ต้องหาอาหารพื้นถิ่นกินเพื่อให้จะได้เข้าถึงความเป็นน่าน ความจริงแล้วของกินเมืองน่านไม่ต่างกับของกินเมืองอื่นในภาคเหนือ ทว่าบางเมนูอาจใส่เครื่องปรุงพิเศษเข้าไป ถ้าอยากรู้ก็ตามไปดูกัน


สำรับอาหารพื้นถิ่นน่าน



แหล่งที่มาภาพ : http://travel.sanook.com/1391126/


                แกงส้มเมือง เป็นแกงยอดนิยมที่มีให้ลิ้มลองเกือบทุกร้านในตัวเมืองน่าน นิยมแกงใส่ปลา อย่างปลาคัง เพราะเนื้อเยอะก้างน้อยกินง่าย เครื่องแกงประกอบด้วย ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด ขมิ้นสด พริกชีฟ้าแห้ง และกะปิโขลกรวมกัน นำเครื่องแกงใส่หม้อตั้งน้ำให้เดือดใส่ปลาลงไป พอเดือดใส่ส้มมะขามหรือมะนาวลงไปก็ได้ให้รสชาติเปรี้ยวนำจากนั้นจึงใส่ผักคูณ ผักบุ้งเมือง ผักกูด มะเขือเทศ และใบแมงลักลงไปต้มให้ผักพอสลดก็ยกเสิร์ฟได้



แหล่งที่มาภาพ :  http://travel.sanook.com/1391126/


           แกงแค เป็นแกงผักรวมพื้นบ้านหลายๆ ชนิด ใส่เนื้อสัตว์ตามความชอบ แต่ที่นิยมคือแกงแคกบ ส่วนเครื่องแกงมีเพียงพริกขี้หนูแห้ง กระเทียม เกลือ กะปิโขลกรวมกัน แล้วนำเนื้อที่เตรียมไว้ย่างไฟให้พอหอม จากนั้นนำมาคลุกเครื่องแกงแล้วคั่วให้หอมจึงค่อยเติมน้ำ พอน้ำเดือดใส่ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ถ้ามีหวายก็ใส่หวายก่อน ตามด้วยมะเขือเปราะ มะเขือพวง ดอกแค ถั่วฝักยาว ชะอม ใบชะพลู ตำลึง ผักเผ็ด ใบพริก แค่นี้ก็ได้แกงแคแสนอร่อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีแกงขนุนซึ่งวิธีทำคล้ายแกงแค เพียงใส่กระดูกหมูและขนุนลงไป

แกงแคไก่


แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/fIjxak


       ส้าบะเขือ นำมะเขือขื่นหรือมะเขือเปราะ ใบชะพลู ชะอม หัวปลี ล้างน้ำแล้วหั่นฝอยเตรียมไว้ จากนั้นเตรียมเครื่องปรุงมีตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง กะปิ โขลกรวมกันแล้วนำมาผัดกับหมูสับจนสุก จากนั้นนำเครื่องที่ผัดสุกแล้วมาขยำรวมกับผักที่เตรียมไว้ โรยหน้าด้วยแคปหมู ต้นหอมผักชี และโรยงาดำคั่วเพิ่มความหอม

ส้าบะเขือ


แหล่งที่มาภาพ : http://travel.sanook.com/1391126/


          ห่อนึ่ง/ แอ๊บ ห่อนึ่งมีวิธีการทำคล้ายห่อหมกของภาคกลาง คือนำเครื่องปรุงมีตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง ขมิ้น เกลือ กะปิ โขลกพอหยาบ ใส่เนื้อ ต้นหอม ผักชี ใบมะกรูดซอย คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเทลงบนใบยอห่อด้วยใบตอง แต่ไม่นิยมใส่กะทิแล้วนำไปนึ่ง เช่น ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งหน่อไม้ ส่วนการแอ๊บคล้ายการงบ (ปิ้ง เผา) ของภาคกลาง แต่ภาคเหนือไม่ใส่กะทิใช้เนื้อสับละเอียดคลุกกับพริกแกงชนิดเดียวกับห่อนึ่งคลุกกับเนื้อใส่เนื้อ ต้นหอม ผักชี ใบมะกรูดซอย แล้วห่อด้วยใบตองย่างไฟอ่อนๆ เช่น แอ๊บอ่องออ (มันสมองหมู) แอ๊บไก่ แอ๊บปลา


ห่อนึ่ง/แอ๊บ ชนิดต่างๆ


แหล่งที่มาภาพ : http://travel.sanook.com/1391126/


        ไก่มะแข่น ถือเป็นเมนูยอดนิยมตามร้านอาหารใน จ. น่าน มะแข่นหรือมะแขว่น ทางภาคกลางเรียกลูกระมาศหรือหมากมาศ เป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นตามป่าดิบพบมากในภาคเหนือโดยเฉพาะ จ. น่าน คนเหนือนิยมนำเมล็ดแห้งของมะแข่นมาทำเป็นเครื่องเทศปรุงรสในอาหารพื้นบ้าน เช่น ใส่ในแกง ลาบ และหลู้ เนื่องจากมีกลิ่นหอมฉุนและมีรสเผ็ดร้อนคล้ายพริกไทย และเมนูยอดนิยมที่มาถึง จ. น่าน แล้วต้องไม่พลาด คือ ไก่มะแข่น ที่นำเมล็ดแห้งมาโขลกหยาบคลุกเคล้ากับน่องและปีกไก่ ใส่ซอสปรุงรสหมักให้เข้าเนื้อ แล้วนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ จนไก่สุกเหลืองหอมน่ากิน

ไก่มะแข่น


แหล่งที่มาภาพ : http://travel.sanook.com/1391126/


     ไก คือสาหร่ายน้ำจืดที่ชอบขึ้นในน้ำใสสะอาดที่ไหลตลอดเวลา ต่างกับสาหร่ายอีกชนิดคือสาหร่ายเทาที่ชอบขึ้นอยู่ในน้ำนิ่ง ความต่างทำให้สาหร่ายไกไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งไกในแม่น้ำน่านจะมีแค่ช่วง อ. บ่อเกลือ และ อ. ท่าวังผาเท่านั้น ส่วนด้านล่างในเขต อ. เมืองไม่มีแล้ว เพราะน้ำเริ่มสกปรก ช่วงปีหนึ่งจะเก็บไกได้เพียงช่วงเดือน พ.ย. - พ.ค. ดังนั้นคนน่านโดยเฉพาะชาวไทลื้อใน อ. ท่าวังผา นิยมเก็บไกมาทำเป็นอาหารพื้นบ้าน เช่น

>>> ห่อนึ่งไก นำไกสดๆ ที่เพิ่งเก็บมาล้างให้สะอาดแล้วสับละเอียดรอไว้ โขลกกระเทียม หอมแดง ตะไคร้ รากผักชี พริกชี้ฟ้าให้ละเอียด แล้วนำไกสับลงคลุกเคล้า ใส่น้ำใบย่านางคั้นสด เติมเกลือเล็กน้อยแล้วผสมให้เข้ากัน ตักใส่ใบตองสด ห่อแล้วนำไปนึ่งราว 30 นาที จะได้ห่อนึ่งไกหอมชวนกิน

>>>ไกยี นำไกสดมาล้างสะอาดแล้วตากแดดจัดๆ เพียง 1 วัน จะได้ไกแห้งสีเขียวสด จากนั้นนำมาคั่วให้กรอบแล้วยีหรือป่นให้ละเอียด ปรุงรสด้วยกระเทียมเจียว งาขาว เกลือ และน้ำตาลทรายเล็กน้อย



แหล่งที่มาข้อมูล : http://travel.sanook.com/1391126/

เทศกาลงานประเพณี จังหวัดน่าน



งานแข่งเรือประเพณีฉลองงาช้างดำจังหวัดน่าน




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/psv4X0



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/nWbpSU


              ประเพณีแข่งเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานต่อมาใน พ.ศ. 2479 ได้จัดให้มีการแข่งเรือทอดกฐินสามัคคีสืบทอดมาจนถึงงานทอดกฐินพระราชทานในปัจจุบัน ราวกลางเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยถือเอาวันเปิดสนามแข่งเรือตามวันถวายสลากภัตของวัดช้างค่ำวรวิหารซึ่งเป็นวัดหลวง จะจัดงานวายภัตก่อน งานแข่งเรือประเพณีจังหวัดน่านจึงเป็นประเพณีคู่กับตานก๋วยสลากของวัดช้างค่ำมาจนถึงทุกวันนี้ ภายหลังทางจังหวัดได้ผนวกงานสมโภชงาช้างดำอันเป็นสมบัติล่ำค่าคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่านเข้าไปด้วย นอกจากนั้นยังมีงานแข่งเรือที่อำเภอเวียงสาในเทศกาลตานก๋วยสลาก

เรือที่เข้าแข่งแต่ละลำใช้ไม้ซุงใหญ่ ๆ เอามาขุดเป็นเรือ เอกลักษณ์โดดเด่นของเรือแข่งเมืองน่าน คือ ที่หัวเรือแกะเป็นรูปพญานาคชูคอสง่างามหางเรือเป็นหางพญานาคงอนสูง ด้วยคนเมืองน่านเชื่อว่าบรรพบุรุษของตน คือ เจ้าขุนนุ่น ขุนฟอง เกิดจากไข่พญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ การต่อเรือแข่งเป็นรูปพญานาคจึงถือเป็นการบูชาบุญคุณพญานาคผู้เป็นเจ้าแห่งน้ำและบรรพบุรุษของชาวเมืองน่าน

ประเภทการแข่งขัน มีทั้งเรือใหญ่ เรือกลาง และเรือเล็ก รวมทั้งประเภทสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการประกวดกองเชียร์อีกด้วย และหากมาช่วงซ้อมก่อนการแข่งขัน ตอนเย็น ๆ จะเห็นชาวบ้าน นักเรียนจับกลุ่มอยู่ริมน้ำเพื่อมาดูการซ้อมเรือ เชียร์ทีมเรือและฝีพายที่เป็นคนท้องถิ่นเป็นวิถีชีวิตที่มีสีสัน และ เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ นับเป็นประเพณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง


งานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่าน




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/Sqoa7o


         จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี บางปีจัดร่วมกับของดีเทศกาลเมืองน่าน ส้มสีทองเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน พันธุ์เดียวกับส้มเขียวหวาน แต่ส้มสีทองจะมีเปลืองสีเหลืองทองสวยงาม และรสชาติหวานหอมอร่อยกว่า เป็นเพราะอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ คือ อุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคือต่างกัน 8 องศา เป็นเหตุให้สาร “คาร์ทีนอยพิคเมนท์” ในเปลืองส้มเปลี่ยนจากสีทองดังกล่าว

กิจกรรมในงานที่น่าสนใจมีหลายอย่าง ได้แก่ การประกวดขบวนรสส้มสีทอง การออกร้านนิทรรศการ การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมจากอำเภอ ๆ และจากเมืองฮ่อน-หงสา สปป.ลาว การแสดงพื้นเมืองและมหรสพต่าง ๆ อีกมามาย


งานตานก๋วยสลาก งานแห่คัวตาน หรือครัวทาน




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/RYlpgQ



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/vXGbpi


       ทานสลาก หรือก๋วยสลากเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สำหรับชาวเหนือถือว่าเป็นประเพณีทำบุญกลางบ้านที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น พระภิกษุรับนิมนต์เพื่อมารับการถวายทานโดยการจับสลาก


พิธีสืบชะตา

                  เป็นประเพณีโบราณ มักทำในโอกาสต่าง ๆ เช่นวันเกิดอายุครบรอบฟื้นจาการเจ็บป่วย การสืบชะตาถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเป็นสิริมงคล ขับไล่สิ่งเลวร้ายให้ผ่านพ้นไป ต่อมามีการประยุกต์ พิธีสืบชะตากับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ



ดนตรีพื้นบ้าน

      ปิน สะล้อ ซอน่าน พ่อครูไชยลังกา เครือเสน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) คือผู้เชี่ยวชาญปิน (ซึง) และสะล้อและยังสามารถประดิษฐ์เครื่องดนตรี  คำร้อง คำนอง เพลงซอปั่นฝ้าย ศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่งคือ พ่อครูคำผายนุปิ ผู้ขับ “ซอล่องน่าน” ที่เล่าถึงตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองน่าน ตามเรื่องเล่าขานกันมาช้านานกว่า ครั้งเมื่อพระยาการเมืองอพยพย้ายเมืองจากวรนครอำเภอปัว มาสร้างเมืองใหม่ที่ภูเพียงแช่แห้งนั้น ขบวนเสด็จแห่แหนใหญ่โตมาตามลำน้ำน่าน ผู้ติดตาม คือ ปู่คำมาและย่าคำปี้ ขับร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวี คลอปินและสะล้อเพื่อไม่ให้การเดินทางน่าเบื่อ


งานประเพณีไหว้พระธาตุ

                   เมืองน่านเป็นเมืองหนึ่งในดินแดนล้านนาที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่มาถึงเป็นเวลาช้านาน ในเขตเมืองเก่าทั้งในตัวเมืองน่านและที่อำเภอปัวจะมีพระธาตุตั้งอยู่บนเขาเด่นสง่า ในรอบปีมีงานบูชาพระธาตุสำคัญ ได้แก่

งานนมัสการพระพุทธเบ็งสกัด ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม)

งานประเพณี “หกเป็งไหว้สามหาธาตุแช่แห้ง” ในวันเดือนเพ็ญเดือน 6 เหนือ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 5 ภาคกลาง (ประมาณเดือนกุมพาพันธ์-มีนาคม) มีการจุดบ้องไฟถวายพุทธบูชา

งานประเพณีนมัสการพระธาตุเขาน้อย ในวันเพ็ญเดือน 8 เหนือ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ภาคกลาง (ประมาณเดือนพฤษภาคม) มีงานนมัสการพระธาตุเขาน้อย และมีการจุดบ้องไฟถวายพุทธบูชา


งานประเพณีนมัสการสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาลช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-15 เมษายน


แหล่งที่มาข้อมูล : http://goo.gl/h2WKFe

ไหว้พระ 9 วัดที่น่าน

               

                     น่าน...ดินแดนในอ้อมกอดของขุนเขาด้านตะวันออกของภาคเหนือ ที่มียังคงดำเนินวิถีชีวิตอย่างสงบสุขและเรียบง่าย โดยมีวิถีวัฒนธรรมของผู้คนชาวไทยลื้อ มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เมืองนี้เต็มไปด้วยมนต์ขลัง ที่แฝงด้วยแรงศรัทธาในพุทธศาสนา โดยเฉพาะ "วัด" ในเมืองน่าน ที่ผู้คนยังคงรักษาศรัทธาแห่งความเชื่อไว้ได้เป็นอย่างดี

  เพราะฉะนั้น เมื่อไปเยือนเมืองน่านทั้งที ก็ต้องไป ไหว้พระ 9 วัด เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต แต่จะต้องไปวัดไหนบ้างนั้น อยากรู้ตามมาเลยดีกว่า


1. วัดพระธาตุแช่แห้ง




แหล่งที่มาภาพ : http://travel.kapook.com/view21988.html



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/S79shI

         เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว วัดพระบรมธาตุแช่แห้งสร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. 1897

          องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของ พระธาตุแช่แห้ง สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญ ไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน

          พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป "ชุธาตุ" หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชม วัดพระธาตุแช่แห้ง ได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00 - 18.00 น.

          การเดินทาง จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามทางหลวงหมายเลข 1168  สายน่าน-แม่จริม ประมาณ 3 กิโลเมตร โทร. 0 5475 1846


2. วัดภูมินทร์ 





แหล่งที่มาภาพ : http://goo.gl/rWiiCs




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/Q7qWnk


        วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อตำบลในเวียงในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจาก ที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ.2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" แต่ตอนหลังชื่อวัดได้ เพี้ยนไปจากเดิมเป็น วัดภูมินทร์

          จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุข หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ได้จำลองพระวิหารหลังนี้ไว้ด้วย

          สามร้อยปีต่อมา วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ "ฮูบแต้ม" ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา แต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ "อยู่ข่วง" หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า "เอาคำ ไปป่องกั๋น" หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา "เป๊อะ" ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของ วัดภูมินทร์ มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่

          ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกชานมีเรือนเล็ก ๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า "ร้านน้ำ" ส่วนชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ภาพชาวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองน่าน ช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิง เป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น


3. วัดพญาวัด 

             วัดพญาวัด ตั้งอยู่ที่บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 101 ก่อนข้ามสะพานเข้าเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข 1025 เข้าไปประมาณ 300 เมตร แต่เดิมบริเวณที่ตั้งวัดเป็นเขตศูนย์กลางเมืองน่าน ในสมัยที่ย้ายเมืองจากพระบรมธาตุแช่แห้ง มาตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน 

          เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี ลักษณะคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน เป็นทรงซุ้มสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยดังพบที่ สถูปเจดีย์วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ยอดซุ้มก่ออิฐวงโค้ง เป็นรูปแบบการก่อสร้างสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่ามีการบูรณะในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่อิทธิพลของศิลปะเชียงใหม่ ได้เข้ามาแทนที่ศิลปะสุโขทัยแล้ว

          ในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระเจ้าฝนแสนห่า" หรือ "พระเจ้าสายฝน" ซึ่งชาวเมืองน่านเคยนำมาแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นอกจากนั้น ยังมีธรรมาสน์แกะสลัก ฝีมือช่างพื้นเมืองน่านที่เก่าที่สุดเท่าที่เคยพบ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 24


4. วัดพระธาตุเขาน้อย 




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/pOK872


               วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ในตำบลไชยสถาน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อ พ.ศ.2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่าง พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกัน

          จากวัดพระธาตุเขาน้อยสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ประดิษฐาน "พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542


5. วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร 




แหล่งที่มาภาพ : http://travel.kapook.com/view21988.html



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/7d8umz


            วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อยู่ในถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน เดิมเรียก "วัดหลวง" หรือ "วัดหลวงกลางเวียง" สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091

          ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ "ค้ำ" องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย 

          ภายในวิหารประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย สูง 145 เซนติเมตร อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย ส่วนผสมของทองคำ 65 % พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง


6. วัดสวนตาล 




แหล่งที่มาภาพ : http://travel.kapook.com/view21988.html



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/JSl85G


       วัดสวนตาล อยู่ที่ถนนมหายศ สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อ พ.ศ.1770 เจดีย์มีสัณฐานงดงาม ชั้นล่างมีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ จากภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รูปเจดีย์วัดสวนตาลก่อนการบูรณะในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ (ตรงกับรัชกาลที่ 5) เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม องค์พระเจดีย์เป็นทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลศิลปะสมัยสุโขทัย

          ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1992 เป็นพระพุทธรูปทองสำริดองค์ใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน


7. วัดพระธาตุเบ็งสกัด 




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/Zv5Yhy


         วัดพระธาตุเบ็งสกัด หมู่ 5 บ้านแก้ม ตำบลวรนคร ตั้งอยู่บริเวณที่สันนิษฐานว่าพระยาภูคาได้สร้างเมืองปัวโบราณ หรือเมืองวรนคร เพื่อให้ เจ้าขุนฟอง พระราชบุตรบุญธรรมมาปกครอง คำว่า เบ็งสกัด หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดิน ที่ใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง

          องค์พระธาตุ และพระวิหารสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1826 ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน อีกทั้งวัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง โดยรอบเป็นป่าละเมาะ ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารเป็นทรงตะคุ่มแบบพื้นบ้านไทลื้อ หรือที่เรียกว่า "ทรงเตี้ยแจ้" วิหารเป็นหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด (ทำจากไม้สักทอง) เป็นศิลปะไทลื้อ พื้นเมือง มีซุ้มประตูเป็นศิลปะล้านช้าง มีการบูรณะในสมัยพระยาอนันตยศ และโปรดให้นำพระแก้วซึ่งมีเกศาเป็นทองคำบรรจุในองค์พระธาตุ องค์พระประธานเป็นศิลปะแบบพื้นบ้านประดิษฐานบนฐานชุกชี และด้านหลังองค์พระประธานติดกระจกเงาตามความเชื่อของชาวไทลื้อ และบานประตูไม้จำหลักเป็นศิลปะพื้นเมืองน่าน

          การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1256 ทางเข้าตรงข้ามโรงเรียนวรนคร เข้าไปประมาณ 200 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายอีก 200 เมตร



8. วัดหนองแดง





แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/LN3ljP


       วัดหนองแดง อำเภอเชียงกลาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2330 โดยชาวไทลื้อร่วมกับไทพวน องค์พระประธานสร้างโดยครูบาสิทธิการ พระวิหารบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 และบูรณะต่อมาในปี พ.ศ. 2538 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539

          ภายในวัดมีลานกว้างร่มรื่น ช่อฟ้าพระอุโบสถสลักรูปนกหัสดีลิงค์ (ศีรษะเป็นช้าง ตัวเป็นหงส์) ซึ่งชาวไทลื้อเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงจากสวรรค์ เชิงชายประดับไม้ฉลุลายน้ำหยาด ซึ่งเป็นลวดลายเฉพาะของชาวไทลื้อ องค์พระประดิษฐานบนฐานชุกชี เรียกว่า "นาคบัลลังก์" จากความเชื่อที่ว่านาคเป็นเครื่องหมายแห่งความสง่างาม ความดี และเป็นอารักษ์แห่งพุทธศาสนา

          การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 ถึงที่ว่าการอำเภอเชียงกลาง เลยที่ว่าการอำเภอฯไป 2 กิโลเมตรจนถึงสี่แยกรัชดา และเห็นป้อมตำรวจบ้านรัชดาให้เลี้ยวซ้ายไป 1 กิโลเมตร  


9. วัดหัวข่วง





แหล่งที่มาภาพ : http://travel.kapook.com/view21988.html


    วัดหัวข่วง ตั้งอยู่ใกล้หอคำ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน มีวิหารและเจดีย์ ที่มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา สกุลช่างเมืองน่าน ฝีมือประณีตงดงาม วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด มีเพียงหลักฐานว่าได้รับการบูรณะในราว พ.ศ. 2425  โดย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และต่อมาราวปี พ.ศ.2472 ในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองน่านองค์สุดท้าย 

          มีวิหารที่สวยงาม ปัจจุบันเป็นอาคารทรงจั่ว เด่นที่หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษา อย่างประณีต และสวยงาม ซุ้มประตูหน้าต่าง ประดับลายปูนปั้นรูปใบผักกาด อันเป็นศิลปะแบบตะวันตก เป็นวิหารฝีมือช่างเมืองน่านที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง นอกจากนี้ ในวัดยังมีหอไตรเก่า คล้ายวิหาร แต่มีขนาดเล็ก และทรงสูง หน้าบันและฝาชั้นบนประดับลายแกะสลักสวยงาม ตั้งอยู่ใกล้องค์เจดีย์

          เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาทหรือเรือนทอง อิทธิพลศิลปะล้านนา ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม รับฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น มีชั้นหน้ากระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบนย่อเก็จรับกับเรือนธาตุ ไปจรดชั้นบัวถลาใต้องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนัมด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่มุมผนังทั้งสองข้าง ปั้นเป็นรูปแทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือ เหนือชั้นอัสดงตอนสุดเรือนธาตุเป็นชั้นบัวถลาซ้อนกัน 3 ชั้น องค์ระฆัง มีขนาดเล็กไม่มีบัลลังก์ 

          ลักษณะของรูปทรงโดยส่วนรวมคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นระหว่างรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า รวม พ.ศ. 2071 แต่ส่วนฐานล่างและชั้นบัวถลาของเจดีย์นี้ยึดสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่า แสดงถึงพัฒนาการทรงรูปแบบที่ช่างเมืองน่าน ดัดแปลงนำมาใช้ในระยะหลัง ซึ่งคงมีอายุไม่เก่าไปกว่าครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 22


แหล่งที่มาข้อมูล : http://travel.kapook.com/view21988.html

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอุทยาน วนอุทยาน สวนรุกขชาติ จังหวัดน่าน

มีจำนวนอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง, วนอุทยาน 1 แห่ง และสวนรุกขชาติ 2 แห่ง ได้แก่

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

         อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของจังหวัดน่าน มีอาณาเขตกว้างขวางเป็นอันดับ 4 ของประเทศ โดยมีพื้นที่ประมาณ 1,065,000 ไร่ หรือ 1,704 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมในท้องที่ 8 อำเภอของจังหวัดน่าน ได้แก่ อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และ อำเภอแม่จริม ประกอบด้วยพรรณไม้ที่หลากหลาย มีการค้นพบพืชสำคัญหลายชนิด เช่น เต่าร้างยักษ์ภูคา ก่วมภูคา รางจืดภูคา ที่พบเฉพาะที่นี่เพียงแห่งเดียว รวมถึงต้นชมพูภูคา ซึ่งพบที่นี่เพียงแห่งเดียวเช่นกัน


แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/GZazev


แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/11Pp99


อุทยานแห่งชาติศรีน่าน

            มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา ตามแนวสองฟากฝั่งลำน้ำน่าน จนไปสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีเนื้อที่ประมาณ 640,237.50 ไร่ หรือ 1,024.38 ตารางกิโลเมตร สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ ดอยเสมอดาว ผาหัวสิงห์ ผาชู้ เสาดิน แก่งหลวง หมู่บ้านประมงปากนาย เป็นต้น



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/VAR0eo




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/OGrNXx


อุทยานแห่งชาติแม่จริม

                 อยู่ในอำเภอแม่จริม มีเนื้อที่ประมาณ 270,000 ไร่ หรือ 432 ตารางกิโลเมตร มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เด่นคือ การล่องแก่งลำน้ำว้า




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/1Rd0QC



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/kR4HJp


อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน

           อยู่ในท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และอำเภอเชียงคำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ประมาณ 155,200 ไร่ หรือ 248.32 ตารางกิโลเมตร



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/kOnWbr


อุทยานแห่งชาตินันทบุรี

             มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเมืองน่าน อำเภอบ้านหลวง เนื้อที่ประมาณ 548,125 ไร่ หรือ 877 ตารางกิโลเมตร พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ สำคัญแห่งหนึ่งในอดีต เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/0CgoSW


แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/xjZArd


อุทยานแห่งชาติขุนสถาน

        มีพื้นที่ครอบคลุมป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ในท้องที่อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น เนื้อที่ประมาณ 262,000 ไร่ หรือ 419.2 ตารางกิโลเมตร



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/vb56SK


แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/iDglN3


อุทยานแห่งชาติขุนน่าน
            
            ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ มีพรรณไม้และสัตว์ป่าที่น่าสนใจมากมาย มีพื้นที่ประมาณ 155,375 ไร่ หรือ 248.6 ตารางกิโลเมตร



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/npQase


วนอุทยานถ้ำผาตูบ

               อยู่ในท้องที่บ้านผาตูบ ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน มีเนื้อที่ประมาณ 528 ไร่



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/4Cavj1


สวนรุกขชาติแช่แห้ง

                 ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง โดยมีอาณาเขตติดกับวัดพระธาตุแช่แห้ง มีเนื้อที่ประมาณ 72 ไร่


สวนรุกขชาติห้วยน้ำอุ่น

             อยู่ในท้องที่ตำบลอ่ายนาไลย อำเภอเวียงสา มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่


แหล่งที่มาข้อมูล : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99#.E0.B8.81.E0.B8.A5.E0.B8.B8.E0.B9.88.E0.B8.A1.E0.B8.8A.E0.B8.B2.E0.B8.95.E0.B8.B4.E0.B8.9E.E0.B8.B1.E0.B8.99.E0.B8.98.E0.B8.B8.E0.B9.8C


กลุ่มชาติพันธุ์ / ประชากร / พื้นที่

กลุ่มชาติพันธุ์

ประชากรในจังหวัดน่านมีอยู่อย่างเบาบางเป็นอันดับ 3 ของประเทศ (ประมาณ 41 คนต่อตารางกิโลเมตร) กระจัดกระจายไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
ชาวไทยวน หรือ คนเมือง ส่วนใหญ่อพยพมาจากเชียงแสนและบริเวณต่างๆ ของล้านนา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัด
ชาวไทลื้อ (ไทลื้อ, ไทยอง) ส่วนใหญ่อพยพมาจากสิบสองปันนาและหัวเมืองต่างๆ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีทั้งอพยพมาด้วยความสมัครใจและอพยพมาเนื่องจากเกิดศึกสงครามทั้งภายในหัวเมืองลื้อเอง และอพยพมามากที่สุดยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองของเจ้ากาวิลละแห่งเชียงใหม่ และเจ้าอัตถวรปัญโญฯ แห่งนครน่าน และยุคของเจ้าสุมนเทวราช อีกทั้งมีการอพยพเข้ามาเรื่อยๆ ครั้งเกิดการปฏิวัติการปกครองประเทศของจีน ชาวไทลื้ออาศัยตั้งบ้านเรือน อยู่กระจัดกระจายตามลุ่มน้ำต่างๆ ในจังหวัดน่านมีมากที่สุด คือ อำเภอปัวแทบทุกตำบล อำเภอท่าวังผา อำเภอสองแคว อำเภอเชียงกลาง และอำเภอทุ่งช้าง เลยไปถึงอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ภาษาไทลื้อในจังหวัดน่าน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

(1) ไทลื้อฝั่งสิบสองปันนาตะวันออก ได้แก่ เมืองล้า เมืองมาง (อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำน่าน บริเวณชุมชนบ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา และแถวตำบลยอด อำเภอสองแคว) สำเนียงพูดใกล้เคียงกับภาษาไทยอีสานปนลาวพวน

(2) ไทลื้อฝั่งสิบสองปันนาตะวันตก ได้แก่ เมืองยู้ เมืองยอง เมืองเชียงลาบ เมืองเสี้ยว (อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำย่าง บริเวณชุมชนตำบลยม ตำบลจอมพระ(บ้านถ่อน) อำเภอท่าวังผา แถบลุ่มแม่น้ำปัว ตำบลศิลาเพชร ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว ถึงตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) สำเนียงพูดเหมือนสำเนียงคนยองในจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่
ชาวไทพวน หรือ ลาวพวน อยู่ที่บ้านฝายมูล อำเภอท่าวังผา และบ้านหลับมืนพวน อำเภอเวียงสา
ชาวไทเขิน หรือ ชาวขึน อพยพมาจากเชียงตุง ปัจจุบันส่วนใหญ่จะถูกกลืนทางวัฒนธรรมจากคนเมือง ทั้งภาษาพูดและเครื่องแต่งกาย แต่บางหมู่บ้านยังมีการนับถือผีเจ้าเมืองของไทเขินอยู่ จึงรู้ว่าเป็นไทเขิน เช่นบ้านหนองม่วง อำเภอท่าวังผา ส่วนบ้านเชียงยืน ตำบลยม อำเภอท่าวังผา ถูกชาวไทลื้อกลืนวัฒนธรรมจนไม่เหลือเค้าของชาวไทเขิน
ชาวไทใหญ่ หรือ เงี้ยว หรือ ไตโหลง มีถิ่นฐานในรัฐฉาน และเชียงตุง อาศัยอยู่บริเวณแถวอำเภอทุ่งช้าง ในปัจจุบันถูกกลืนวัฒนธรรมจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นชาวไทใหญ่
นอกจากนี้ในบริเวณที่สูงตามไหล่เขายังเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อยที่เรียกกันว่า "ชาวเขา" ได้แก่ ชาวม้ง, เมี่ยน, ลัวะหรือถิ่น, ขมุ รวมถึงชาวตองเหลืองหรือมาบลี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา

ผู้คนในจังหวัดน่านจึงมีภาษาพูดที่หลากหลายด้วยเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมืองสำเนียงน่าน

ประชากร

478,264 คน (พ.ศ. 2557) (อันดับที่ 57)

พื้นที่

11,472.072 ตร.กม. (อันดับที่ 13)

แหล่งที่มาข้อมูล : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99#.E0.B8.81.E0.B8.A5.E0.B8.B8.E0.B9.88.E0.B8.A1.E0.B8.8A.E0.B8.B2.E0.B8.95.E0.B8.B4.E0.B8.9E.E0.B8.B1.E0.B8.99.E0.B8.98.E0.B8.B8.E0.B9.8C

ลักษณะภูมิประเทศ / ภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิประเทศ
 
 จังหวัดน่าน  มีทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งเป็นทิวเขาหินแกรนิต ที่มีความสูง 600 - 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทอดผ่านทั่วจังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด
        พื้นที่ของจังหวัดน่านโดยทั่วไป มีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่น ลอนชันเกิน 30 องศา ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนลูกคลื่นลอนลาด ตามลุ่มน้ำ จะเป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างหุบเขาตามแนวยาวของลุ่มน้ำ น่าน สา ว้า ปัว และกอน

จังหวัดน่านมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7,170,045 ไร่ หรือ 11,472.07 ตารางกิโลเมตร จำแนกเป็น

1. พื้นที่ป่าไม้และภูเขา 3,437,500 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 47.94
2. พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 2,813,980 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 39.24
3. พื้นที่ทำการเกษตร 876,043 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.22
4. พื้นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ  43,522 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.60




แหล่งที่มาภาพ : http://goo.gl/Yx7b2z


ลักษณะภูมิอากาศ

  ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดน่าน มีความแตกต่างกันของฤดูกาล โดยอากาศจะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน และหนาวเย็นในฤดูหนาว โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาเอาความชุ่มชื้นมาสู่ภูมิภาค ทำให้มีผลตกชุก ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน และจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดพาเอาความหนาวเย็นสู่ภูมิภาค ในเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ และในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีสภาพอากาศร้อน
            นอกจากนี้จังหวัดน่าน ยังมีสภาพภูมิประเทศโดยรอบ เป็นหุบเขาและภุเขาสูงชันมาก ทิวเขาวางตัวในแนวเหนือใต้ ทำให้บริเวณยอดเขา สามารถรับความกดอากาศสูงที่แผ่มาจากประเทศจีนในฤดูหนาว ได้อย่างทั่วถึงและเต็มที่ ขณะเดียวกันที่ทิวเขาวางตัวเหนือใต้ ทำให้เสมือนกำแพงปิดกั้นลมมรสุมทางทิศตะวันออก รวมทั้งยังมีระดับความสูงเฉลี่ยบนยอดเขา กับความสูงเฉลี่ยที่ผิวแตกต่างกันมาก และยังมีระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล จากปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ ในตอนกลางวัน ถูกอิทธิพลของแสงแดดเผา ทำให้อุณหภูมิร้อนมาก และในตอนกลางคืนจะได้รับอิทธิพลของลมภูเขา พัดลงสู่หุบเขา ทำให้อากาศเย็นในตอนกลางคืน


แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.nan.go.th/webjo/index.php?option=com_content&view=article&id=3&Itemid=24

ที่ตั้งและอาณาเขต

 จังหวัดน่าน  ตั้งอยู่ติดกับชายแดนทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว ) ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ ประมาณ 668 กิโลเมตร บริเวณเส้นรุ้งที่ 18 องศา 46 ลิปดา 30 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 18 องศา 46 ลิปดา 44 ฟิลิปดาตะวันออก ระดับความสูงของพื้นที่อยู่สูง 2 ,112 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ 11,472.076ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,170,045 ไร่


อาณาเขตโดยรอบของจังหวัดน่าน
            ทิศเหนือ        ประกอบด้วย อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว มีอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติิ อำเภอบ่อเกลือ ที่มีพื้นที่ติดต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชียงฮ่อน - หงสา (สปป.ลาว )
            ทิศตะวันออก  ประกอบด้วย อำเภอภูเพียง อำเภอสันติสุข โดยมีอำเภอแม่จริม  อำเภอเวียงสา  มีพื้นที่ติดต่อกับแขวงไชยบุรี ( สปป.ลาว )
            ทิศใต้            ประกอบด้วย อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตต์ อำเภอนาน้อย มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดแพร่ อำเภอเวียงสา มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดแพร่
            ทิศตะวันตก    ประกับด้วย อำเภอบ้านหลวง มีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอเชียงม่วนจังหวัดพะเยา อำเภอท่าวังผา มีพื้นที่ติดกับอำเภอปง จังหวัดพะเยา อำเภอสองแคว มีพื้นที่ติดต่อกับอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
             ทิศเหนือ และทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว ) เป็นระยะทางยาวประมาณ 227 กม.



แหล่งที่มาภาพ : http://goo.gl/V0YO5v


แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.nan.go.th/webjo/index.php?option=com_content&view=article&id=1&Itemid=22

ภูมิศาสตร์ / ภูมิอากาศ

ภูมิศาสตร์

            จังหวัดน่านมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาซึ่งวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนด้านเหนือและตะวันออกซึ่งเป็นรอยต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีภูเขในเขตอำเภอบ่อเกลือ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัด คือมีความสูงถึง 2,079 เมตร และมีดอยภูคาในเขตอำเภอปัว เป็นยอดเขาที่สำคัญของจังหวัด มีความสูง 1,980 เมตร ส่วนพื้นที่ราบจะอยู่บริเวณตอนกลางของจังหวัด และตามลุ่มน้ำต่างๆ แหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดคือแม่น้ำน่าน ซึ่งมีต้นกำเนิดทางตอนเหนือของจังหวัด แล้วไหลลงไปยังเขื่อนสิริกิติ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และบรรจบกับแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสาขาต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำสา ลำน้ำว้า ลำน้ำสมุน ลำน้ำปัว ลำน้ำย่าง ลำน้ำแหง เป็นต้น มีพื้นที่กว้างใหญ่ พื้นที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทั้งยังมีประชากรหลายชาติพันธุ์ นับว่าเป็นดินแดนของความหลากหลายอีกแห่งหนึ่งของประเทศ

ภูมิอากาศ

มีลักษณะอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อนแบบ 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยมีความแตกต่างของฤดูอย่างชัดเจน
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน อากาศร้อนถึงร้อนจัด (สถิติอุณภูมิสูงสุด 44.1 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2502)
ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน มีฝนตกชุก จากอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ อากาศหนาวถึงหนาวจัด จากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (สถิติอุณภูมิต่ำสุด 2.7 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2542)

แหล่งที่มาข้อมูล : https://goo.gl/blwdob

แผนที่จังหวัดน่าน

แผนที่จังหวัดน่าน




แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/5lCAO9


ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด / คำขวัญประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัด: รูปพระธาตุแช่แห้งประดิษฐานบนหลังโคอุศุภราช



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/DycpHL



ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกเสี้ยวดอกขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bauhinia variegata Linn.)



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/Ixs3ZZ



ต้นไม้ประจำจังหวัด: กำลังเสือโคร่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Betula alnoides Buch.-Ham.)



แหล่งที่มาภาพ : https://goo.gl/1XMQCU



คำขวัญประจำจังหวัด: แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง


แหล่งที่มาข้อมูล : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99#.E0.B8.AA.E0.B8.B1.E0.B8.8D.E0.B8.A5.E0.B8.B1.E0.B8.81.E0.B8.A9.E0.B8.93.E0.B9.8C.E0.B8.9B.E0.B8.A3.E0.B8.B0.E0.B8.88.E0.B8.B3.E0.B8.88.E0.B8.B1.E0.B8.87.E0.B8.AB.E0.B8.A7.E0.B8.B1.E0.B8.94

ประวัติความเป็นมาจังหวัดน่าน

ประวัติศาสตร์น่าน
เมืองน่าน   ในอดีตเป็นนครรัฐเล็ก ๆ ก่อตัวขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำสาขา ในหุบเขา ทางตะวันออกของภาคเหนือ
ประวัติศาสตร์เมืองน่าน เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ. 1825 ภายใต้การนำของพญาภูคา ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพระยาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดย ขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองพระบาง) และ ขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนครหรือเมืองปัว 


ภายหลังขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคา ครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอย ู่เมืองย่างและมอบให้ชายา คือนางพญาแม่ท้าวคำปิน ดูแลรักษาเมืองปัวแทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน ในช่วงที่เมืองปัวว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือพญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพล เข้าครอบครองบ้านเมืองในเขตเมืองน่านทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปิน พร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนี ไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายชื่อว่าเจ้าขุนใส เติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมืองปราดภายหลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพ มาต่อสู้ จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา และได้รับการสถาปนาเป็นพญาผานอง ขึ้นครองเมือง ปัวอย่างอิสระระหว่างปี 1865 - 1894 รวม 30 ปี จึงพิราลัย 

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจน มีความสัมพันธ์ กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาการเมือง มาบูชา ณ เมืองปัวด้วย พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาล จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า ภูเพียงแช่แห้งในปี พ.ศ. 1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง



หลังจากพญาการเมืองถึงแก่พิราลัย โอรสคือ พญาผากองขึ้นครองแทนอยู่มาเกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกบริเวณบ้านห้วยไค้ คือบริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 1911 ในสมัยเจ้าปู่เข่งครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1950 - 1960 ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร วัดพระธาตุเขาน้อย วัดพญาภู แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน พญางั่วฬารผาสุมผู้เป็นหลาน ได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จและได้สร้าง พระพุทธรูปทองคำปางลีลา ปัจจุบันคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร



ในปี พ.ศ. 1993 พระเจ้าติโลกราชกษัตริษ์นครเชียงใหม่ มีความประสงค์จะครอบครองเมืองน่าน และแหล่งเกลือ บ่อมาง (ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ) ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์และหาได้ยากทางภาคเหนือ จึงได้จัดกองทัพ เข้ายึด เมืองน่าน พญาอินต๊ะแก่นท้าว ไม่อาจต้านทาน ได้จึงอพยพหนีไปอาศัยอยู่ ที่เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นมา

ตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี ที่เมืองน่านอยู่ในครอบครองของ อาณาจักรล้านนา ได้ค่อย ๆ ซึมชับเอาศิลปวัฒนธรรมของล้านนา มาไว้ในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการรับเอาศิลปกรรมทางด้านศาสนา ปรากฏศิลปกรรมแบบล้านนาเข้ามาแทนที่ศิลปกรรมแบบสุโขทัย อย่างชัดเจน ดังเช่น เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ แม้จะเหลือส่วนฐานที่มีช้างล้อมรอบ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยอยู่ แต่ส่วนองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงส่วนยอด เปลี่ยนเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาไปจนหมดสิ้น
ในระหว่างปี พ.ศ. 2103 - 2328 เมืองน่านได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า อยู่หลายครั้งและต้องเป็นเมืองร้าง ไร้ผู้คนถึง 2 ครา คือ ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2247 - 2249 ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ 2321 - 2344

ปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อขอเป็น ข้าขอบขันทสีมา เจ้าอัตถวรปัญโญ หลังจากขึ้นครองเมืองน่านยังมิได้เข้าไปอยู่เมืองน่านเสียทีเดียว เนื่องจากเมืองน่าน ยังรกร้างอยู่ ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ คือ บ้านตึ๊ดบุญเรือง เมืองงั้ว (บริเวณอำเภอนาน้อย) เมืองพ้อ (บริเวณอำเภอเวียงสา) หลังจากได้บูรณะซ่อมแซมเมืองน่านแล้ว พร้อมทั้งได้ขอพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2344 ในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมืองน่านมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราช เจ้าผู้ครองนครน่านในชั้นหลังทุกองค์ ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ ด้วยความเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญหลายครั้งหลายคราด้วยกัน นอกจากนี้เจ้าผู้ครองนครน่าน ต่างได้ทำนุบำรุง กิจการพุทธศาสนาในเมืองน่าน และอุปถัมภ์ค้ำจูนพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ได้สร้างธรรมนิทานชาดก การจารพระไตรปิฎกลงในคัมภีร์ใบลาน นับเป็นคัมภีร์ได้ 335 คัมภีร ์นับเป็นผูกได้ 2,606 ผูก ได้นำไปมอบให้ เมืองต่างๆ มีเมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงราย และเมืองหลางพระบาง

ในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ เจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เลือนยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น "พระเจ้านครน่าน" มีพระนามปรากฏตามสุพรรณปัฏว่า "พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศา ธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์" เป็นพระเจ้านครน่านองค์แรก และองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าน่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ จึงได้สร้าง หอคำ (คุ้มหลวง) ขึ้นแทนหลังเดิมซึ่งสร้างในสมัยของ เจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ และด้านหน้าหอคำ มีข่วงไว้ทำหน้าที่คล้ายสนามหลวง สำหรับจัดงานพิธีต่างๆ ตลอดจนเป็นที่จัดขบวนทัพออกสู้ศึก จัดขบวนนำเสด็จหรือขบวนรักแขกเมืองสำคัญ และในปี พ.ศ. 2474 เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน ถึงแก่พิราลัย ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครก็ถูกยุบเลิกตั้งแต่นั้นมา ส่วนหอคำได้ใช้เป็น ศาลากลางจังหวัดน่าน จนปี พ.ศ. 2511 จังหวัดน่าน ได้มอบหอคำให้กรมศิลปากร ใช้เป็นสถานที่จัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จนกระทั่งปัจจุบัน

ค้นคว้าเรียบเรียงจาก
หนังสือ วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดน่าน

แหล่งที่มารูปและข้อมูล : http://www.nan.go.th/webjo/index.php?option=com_content&view=article&id=6&Itemid=2

ข้อมูลส่วนตัวของผู้สร้างบล็อก







ชื่อ นางสาวนลินนิภา ปั๋นจา รหัส 581171024 วิชาเอกสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์
บล็อกแนะนำจังหวัดน่าน จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอน ในวิชา เทคโนโลนีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน GEN1102 Sec.AF